ประวัติราชวงศ์จักรี

รัชกาลที่ 1

รัชกาลที่ 2

รัชกาลที่ 3

รัชกาลที่ 4

รัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 7

รัชกาลที่ 8

รัชกาลที่ 9

รัชกาลที่ 10

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รัชกาลที่2(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงประสูติเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 7 คํ่า เดือน 3 ปีกุน มีพระนามเดิมว่า "ฉิม" พระองค์ทรงเป็นพระบรมราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติ ณ บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นหลวงยกกรับัตรเมืองราชบุรี พระบิดาได้ให้เข้าศึกษากับสมเด็จพระวันรัต ( ทองอยู่ ) ณ วัดบางหว้าใหญ่ พระองค์ทรงมีพระชายาเท่าที่ปรากฎ 1. กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสี 2. กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระสนมเอก ขณะขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2352 มีพระชนมายุได้ 42 พรรษา พระราชกรณียกิจที่สําคัญ พ.ศ. 2317 ขณะที่เพิ่งมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้ติดตามไปสงครามเชียงใหม่ อยู่ในเหตุการณ์ครั้งที่บิดามีราชการไปปราบปรามเมืองนางรอง นครจําปาศักดิ์ และบางแก้ว ราชบุรี จนถึงอายุ 11 พรรษา พ.ศ. 2322 พระราชบิดาไปราชการสงครามกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ติดตามไป พ.ศ. 2323 พระชนมายุ 13 พรรษา ได้เข้าเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่ ) พ.ศ. 2324 พระราชบิดาได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ไปร่วมปราบปรามเขมรกับพระบิดา พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร" พ.ศ. 2329 พระชนมายุ 19 พรรษา ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามตําบลลาดหญ้า และทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2330 ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามที่ตําบลท่าดินแดง และตีเมืองทวาย พ.ศ. 2331 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่อุปสมบทในวัดนี้ เสด็จไปจําพรรษา เมื่อครบสามเดือน ณ วัดสมอราย ปัจจุบันคือวัดราชาธิราช ครั้นทรงลาผนวชในปีนั้น ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในพระพี่นางเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ พ.ศ. 2336 โดยเสด็จพระราชบิดาไปตีเมืองทวาย ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2349 ( วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 7 คํ่า ปีขาล ) ทรงพระชนมายุได้ 40 พรรษาได้รับสถาปนาเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ซึ่งดํารงตําแหน่งพระมหาอุปราชขึ้นแทน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ที่ได้สวรรคตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2346

พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงประเทศ และป้อมปราการ

ระยะแรกของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พม่าก็ยังคงรุกรานประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองและป้อมปราการต่างๆ ขึ้นเพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านคอยป้อมป้องกันข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางทะเลที่เมืองสมุทรปราการ และที่เมือง ปากลัด (ปัจจุบันคือ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ) โดยมีพระราชบัญชาให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นแม่กองก่อสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้นที่ปากลัด พร้อมป้อมปีศาจผีสิง ป้อมราหู และป้อมศัตรูพินาศแล้วโปรดเกล้าฯให้อพยพครอบครัวชาวมอญจากปทุมธานีมาอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองจัดสร้างป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธ์ ขึ้นที่เมืองสมุทรปราการ และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ไปคุมงานก่อสร้างป้อมเพชรหึงส์เพิ่มเติมที่เมือง นครเขื่อนขันธ์ การสร้างเมืองหน้าด่านและป้อมปราการต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้ามาถึงพระนครได้โดยง่าย ถือว่าพระองค์มีสายพระเนตรที่ยาวไกลยิ่งนัก

พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พม่าได้ยกทัพเข้ามาตีไทยอยู่หลายครั้งด้วยกันตั้งแต่พระองค์ครองราชย์ได้ เพียง ๒ เดือน พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าก็ได้ทรงแต่งตั้งแม่ทัพพม่า ๒ นาย คืออะเติ้งหงุ่นและสุเรียงสาระกะยอ โดยให้แม่ทัพอะเติ้งหงุ่นยกทัพเรือเข้ามาตีทางหัวเมืองชายทะเลตะวันตก และสามารถตีเมืองตะกั่วทุ่งตะกั่วป่า รวมถึงล้อมเมืองถลางไว้ ก่อนที่กอง ทัพไทยจะยกลงไปช่วยและตีทัพพม่าจนแตกพ่ายไป ส่วนแม่ทัพสุเรียงสาระกะยอได้ยกกำลังมาทางบกเพื่อเข้าตีหัวเมืองด้านทิศใต้ ของไทย และสามารถตีได้เมืองมะลิวัน ระนอง และกระบี่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงส่งกองทัพลงไปช่วยเหลือทหารพม่าสู้ กำลังฝ่ายไทยไม่ได้ก็ถอยทัพหนีกลับไป

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคต พระ เจ้าจักกายแมงได้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าปดุง และคิดจะยกทัพมาตีไทยอีก โดยสมคบกับพระยาไทรบุรีซึ่งเปลี่ยนใจไปเข้ากับฝ่ายพม่า แต่เมื่อทราบว่าฝ่ายไทยจัดกำลังทัพเตรียมรับศึกอย่างเข้มแข็ง พม่าก็เกิดเกรงกลัวว่าจะรบแพ้ไทยอีก จึงยุติไม่ยกทัพเข้ามา จนอีก ๓ ปีต่อมา พระเจ้าจักกายแมงก็ทรงชักชวนพระเจ้าเวียดนาม มินมางกษัตริย์ญวนให้มาช่วยตีไทย แต่ฝ่ายญวนไม่ยอมร่วมด้วย พอดีกับที่ขณะนั้นเกิดสงครามกับอังกฤษจึงหมดโอกาสที่จะมาตีไทยอีกต่อไป

พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงบริหารบ้านเมืองโดยให้เจ้านายรับหน้าที่ในการบริหารงานราชการในกรมกองต่างๆ เท่ากับเป็นการให้เสนาบดีได้มีการปรึกษาข้อราชการก่อนจะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ผ่อนผันการเข้ารับราชการของพลเมืองชายเหลือเพียงปีละ ๓ เดือน (เข้ารับราชการ ๑ เดือน แล้วไปพักประกอบอาชีพส่วนตัวอีก ๓ เดือน สลับกันไป) นอกจากนี้ยังทรงรวบรวมพลเมืองให้เป็นปึกแผ่นมีหน่วยราชการสังกัดแน่นอน โดยพระราชทานโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกหน่วยราชการที่สังกัดได้

พระองค์ได้ทรงส่งเสริมข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถให้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ตนถนัด ในรัชกาลนี้จึงปรากฏพระนามและนามข้าราชการที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย ณ นคร) ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นต้น และด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์ให้พลเรือนของพระองค์เป็นคนดี จึงได้ทรงออกพระราชบัญญัติเรื่อง ห้ามเลี้ยงไก่ นก ปลากัด ไว้ชน กัด หรือทำการอื่นๆ เพื่อการพนัน และออกพระราชกำหนดห้ามสูบฝิ่น ขายฝิ่น ซื้อฝิ่น พร้อมทรงกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทำให้ประเทศไทยไม่เกิดสงครามฝิ่นแบบต่างชาติ

พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ ทรงฟื้นฟู พระพุทธศาสนาอย่างมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างศาสนสถาน ทรงโปรดฯให้สร้างวัดขึ้นใหม่หลายวัด ได้แก่ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดชัยพฤกษมาลา วัดโมลีโลกยาราม วัดหงสาราม และวัดพระพุทธบาทที่ สระบุรี ซึ่งสร้างค้างไว้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม โดยสร้างพระอุโบสถพระปรางค์ พร้อมทั้งพระวิหารขึ้นใหม่ เพื่อเป็นพระอารามประจำรัชกาล

การศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ในยุคนี้ก็รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขหลักสูตรจากปริญญาตรี โท เอก มาเป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยคถึง ๙ประโยค ทำให้พระภิกษุ สามเณร มีความรู้ภาษาบาลีแตกฉานยิ่งขึ้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงออกพระราชกำหนดให้ประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา โดยห้ามล่าสัตว์ ๓วัน และรักษาศีล ถวายอาหารบิณฑบาต ทำทาน ปล่อยสัตว์ สดับฟังพระธรรมเทศนาเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา

พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม
ในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขา ทั้งทางด้านประติมากรรม ด้านการดนตรี แต่ที่โดด เด่นที่สุดเห็นจะเป็นในด้านวรรณคดี จนอาจเรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุคทองของวรรณคดีไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ละครรำรุ่งเรืองถึงขีดสุด ด้วยพระองค์ทรงเป็นกวีเอก และทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเล่มด้วยกัน เช่น รามเกียรติ์ตอนลักสีดา วานรถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ สีดาลุยไฟ นอกจากนี้ยังมีพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดกลอนบทละครรำ

ส่วนบทละครนอก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมา ๕ เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง มณีพิชัย ไกรทอง และคาวี พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือ เรื่องกาพย์เห่ชมเครื่องคาว หวาน ซึ่งมีความไพเราะและแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบกวีท่านใด เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือ เห่ชมเครื่องคาว เห่ชมผลไม้ เห่ชมเครื่องคาวหวาน เห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์ และบทเจ้าเซ็น ซึ่งบทเห่นี้เข้าใจกันว่าเป็นการชมฝีพระหัตถ์ในด้านการทำอาหารของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีนั่นเอง นอกจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงเป็นยอดกวีเอกแล้วในยุคสมัยนี้ยังมียอดกวีที่มี ชื่อเสียงอีกลายคน เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร, นายนริทร์ธิเบศ, และสุนทรภู่ เป็นต้น

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องด้วยทรงสร้างสรรค์วรรณคดีที่ทรง คุณค่าทางวัฒนธรรมไว้เป็นมรดกของชาติจำนวนมากรวมถึงทรงปกครองบ้านเมืองให้ ราษฎรได้อยู่เย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และเนื่องด้วยในรัชกาลนี้มีละครนอกช้างเผือกคู่พระบารมีถึง ๓ เชือก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทยจากที่เคยใช้ธงแดงมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาเป็นรูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรติดในธงพื้นแดง และใช้เป็นธงชาติสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๖

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครองราชย์สมบัติถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๗ รวมอยู่ในสิริราชสมบัตินาน ๑๕ ปี ก็ทรงพระประชวรด้วยพิษไข้ มิได้รู้สึกพระองค์ จึงไม่ได้พระราชทานราชสมบัติให้แก่ผู้ใด และทรงพระประชวรด้วยพิษไข้อยู่ ๓ วันก็เสด็จสวรรคตในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือว่าเป็นแผ่นดินทองแห่งวรรณกรรม ด้วยพระองค์มีพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสถาปัตยกรรม วรรณกรรม รวมถึงนาฏกรรม เห็นได้จากมรดกทางวัฒนธรรมที่พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง อุทยานพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๒ ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถือเป็นสถานที่ที่แสดง ให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้อย่าง ชัดเจนที่สุดและในอุทยานแห่งนี้ก็ได้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์เพื่อให้ประชาชนได้เคารพสักการะด้วย

เกร็ดความรู้
อุทยานรัชกาลที่ ๒

อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธาน เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นทั้งนักรบ นักปกครอง ศิลปิน กวีและช่าง ซึ่งได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามประณีตไว้เป็นมงคลแก่ชาติ และปรากฏพระเกียรติคุณแพร่หลายไปในนานาประเทศ จนได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้ส่งเสริมให้มีการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฉลองพระบรมราชสมภพครบรอบ ๒๐๐ ปี เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๑ พร้อมจัดสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ฯ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมไทยในรัชสมัยของพระองค์ และเพื่อให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงนั้นด้วย

สถานที่ตั้งของอุทยานร.๒ อยู่ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ติดกับวัดอัมพวันเจติยาราม ที่เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ตั้ง นิวาสถานดั้งเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื้อที่ ๑๑ ไร่ของอุทยาน ร.๒ แห่งนี้ พระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม เป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินของบริเวณพระอารามให้ (เดิมเป็นนิวาสถานของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชชนนี ภายหลังพระราชทานให้เป็นสมบัติของวัด) โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ติดกับวัดอัมพวันเจติยาราม ด้านหนึ่งติดกับถนนแม่กลอง-บางนกแขวก ส่วนอีกด้านหนึ่งติดริมแม่น้ำแม่กลอง

สุนทรภู่ กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ ๒

สุนทรภู่ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ ในรัชกาลที่ ๑ บิดามารดาชื่อใดไม่ปรากฏ ทราบเพียงว่ามารดามีเชื้อสายผู้ดี และทำหน้าที่แม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ส่วนบิดานั้นบวชเป็นพระอยู่ที่วัดบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาวหรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบัน ครั้นมีความรู้ดีแล้ว มารดานำไปฝากเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไปเป็นเสมียน สุนทรภู่รับราชการไม่ก้าวหน้านัก เพราะติดนิสัยรักกาพย์กลอน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงเป็นที่โปรดปรานให้เป็น “ขุนสุนทรโวหาร” (ภู่) เรียกสั้นๆ ว่า “สุนทรภู่” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ถึงแก่กรรมเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ อายุได้ ๗๐ ปี

หนังสือบทกลอน ที่สุนทรภู่แต่งมีมากมาย ที่ได้ยินแต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่หายสาบสูญไปแล้วไม่ได้ยินชื่อเรื่องก็มี แต่เรื่องที่ยังมีต้นฉบับอยู่ในปัจจุบันมี ๒๔ เรื่องคือ

- นิราศ ๙ เรื่อง ได้แก่ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระแท่นดงรัง นิราศพระปฐม และนิราศเมืองเพชรบุรี

- นิทาน ๕ เรื่อง ได้แก่ โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และ สิงหไกรภพ

- สุภาษิต ๓ เรื่อง ได้แก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนหญิง

- บทละคร ๑ เรื่อง คือ เรื่องอภัยนุราช

- บทเสภา ๒ เรื่อง ได้แก่ ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม และเรื่องพระราชพงศาวดาร

- บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง ได้แก่ เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี และเห่เรื่องโคบุตร