วิทยาศาสตร์น่ารู้

Venus ในเทพนิยาย คือ เทพธิดาแห่งความรักและความงาม ผู้ที่สวยดังภาพวาดของ Sandro Botticelli แต่ในดาราศาสตร์ Venus คือ ชื่อของดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวพุธ แม้จะเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด แต่กลับเป็นดาวลึกลับ เพราะมีเมฆปกคุลมตลอดเวลา จนในอดีตไม่มีใครเคยเห็นพื้นผิวของดาวดวงนี้เลย จนกระทั่งปี 1988 เมื่อนักดาราศาสตร์แห่งหอสังเกตการณ์ Arecibo ที่ Puerto Rico ได้ส่งเรดาร์ไปกระทบผิวดาว แล้วฟังเสียงสะท้อน เพื่อศึกษาภูมิประเทศของดาว ว่ามีภูเขาไฟที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ผลปรากฏว่าไม่มีเลย ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะโลกและดาวศุกร์ถือกำเนิดพร้อมๆ กัน มีขนาดไล่เลี่ยกัน แต่โลกยังมีภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่มากมาย ดังนั้นปริศนาหนึ่งที่ค้างคาใจในวงการดาราศาสตร์คือ ความร้อนในดาวศุกร์หนีหายไปได้อย่างไร

ในปี 2006 เมื่อ NASA ส่งยานอวกาศชื่อ Venus Express ไปวนสำรวจดาวศุกร์ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานได้รายงานว่า ความดันบรรยากาศบนดาวมีค่าประมาณ 90 เท่าของโลก ดาวหมุนรอบตัวเองทุก 243 วัน พายุบนดาวสามารถพัดได้รอบดาวภายในเวลา 4 วัน อุณหภูมิที่ผิวดาวสูงประมาณ 460 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิสูงมากเช่นนี้ สิ่งมีชีวิตจึงไม่น่าจะอาศัยอยู่บนดาวได้ ดังนั้น นักดาราศาสตร์จึงหันไปสนใจศึกษาดาวอังคารแทน ด้วยการส่งยานอวกาศไปสำรวจถึง 16 ครั้ง ในขณะที่ส่งยานไปศึกษาดาวศุกร์เพียง 2 ครั้งเท่านั้นเอง

ในอดีตเมื่อประมาณ 400 ปี ก่อนนี้ดาวศุกร์เป็นดาวที่นักดาราศาสตร์สนใจมาก และบุคคลแรกที่ได้เน้นให้เห็นบทบาทของดาวศุกร์ในการกำหนดขนาดของสุริยจักรวาล คือ Johannes Kepler ผู้ได้พยากรณ์ว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1631 ผู้คนบนโลกจะเห็นดาวพุธโคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ และเมื่อถึงวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.1631 ดาวศุกร์ก็จะโคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ให้ชาวโลกเห็นอีก แต่ Kepler มิได้มีบุญเห็นปรากฏการณ์ทั้งสองนี้ เพราะเขาได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1630 และไม่มีนักดาราศาสตร์คนใดได้เห็นเหตุการณ์นี้เช่นกัน

จนกระทั่งถึงปี 1639 Jeremiah Horrock จึงได้สังเกตเห็นดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์เป็นคนแรก โดยได้เฝ้าดูเหตุการณ์นี้ที่ Much Hoole ซึ่งอยู่ใกล้เมือง Liverpool ส่วน William Crabtree ได้สังเกตเหตุการณ์เดียวกันนี้ที่เมือง Manchester ซึ่งอยู่ห่างจาก Much Hoole ประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1639 ดังนั้น ทั้งสองจึงเป็นสองบุคคลแรกที่เห็นปรากฏการณ์นี้ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นบ่อย

สาเหตุที่เราไม่เห็นเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง เพราะระนาบวงโคจรของดาวศุกร์กับโลก มิได้อยู่ในแนวเดียวกัน แต่เอียงทำมุม 3.4 องศากัน ดังนั้น เวลาที่โลก ดาวศุกร์ และดวงอาทิตย์จะอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน จะเกิดได้เพียง 4 ครั้งเท่านั้นในทุก 243 ปี และในเวลาที่เหลือดาวศุกร์จะอยู่เหนือกว่าหรือต่ำกว่าระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ดาวทั้งสามจึงมิได้อยู่ในแนวเดียวกัน การคำนวณทางดาราศาสตร์ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เหตุการณ์ที่โลก ดาวศุกร์ และดวงอาทิตย์ อยู่ในเส้นตรงเดียวกันได้อุบัติในปี 1639, 1761, 1769, 1874, 1882, 2004 และ 2012 โดยมีข้อสังเกตว่ามี 2 ครั้งที่เกิดห่างกัน 8 ปีคือ 1761 กับ 1769, 1874 กับ 1882 และ 2004 กับ 2012 แล้วเว้นช่วงระหว่างคู่ปีเป็น 105 ปี กับ 122 ปี เช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ในปี 1716 นักดาราศาสตร์อังกฤษชื่อ Edmond Halley ผู้มีชื่อประจำดาวหาง Halley ได้เสนอความเห็นว่า การศึกษาเหตุการณ์ดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์อย่างละเอียด โดยการจับเวลาที่เห็นมันเคลื่อนที่ผ่านตัดหน้าดวงอาทิตย์ จากตำแหน่ง 2 ตำแหน่งบนโลกที่นักดาราศาสตร์รู้ระยะระหว่าง 2 ตำแหน่งนั้นจะทำให้รู้ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ได้ และถ้านักดาราศาสตร์รู้ระยะทางนี้ โดยการใช้กฎข้อที่สามของ Kepler นักดาราศาสตร์ก็จะรู้ขนาดของสุริยจักรวาลอย่างแม่นยำ

ดังนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 องค์กรดาราศาสตร์ในหลายประเทศจึงจัดส่งนักดาราศาสตร์และนักสำรวจไปสังเกตเหตุการณ์ดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ ดังในปี 1761 (รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) Guillaume Le Gentil นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถูกส่งไปอินเดียเพื่อสังเกตเหตุการณ์ แต่ขณะนั้นอินเดียกำลังถูกอังกฤษรุกรานและยึดครอง อังกฤษจึงไม่อนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสเข้าเมือง Le Gentil จึงต้องนำเรือออกทะเลเพื่อไปคอยดูปรากฏการณ์ แต่ในวันสำคัญที่รอคอยได้มีพายุพัดรุนแรง จนนาฬิกาลูกตุ้มที่ใช้บอกตำแหน่งเส้นแวงของการสังเกตทำงานไม่ได้ Le Gentil จึงไม่สามารถวัดอะไรได้เลย แต่ก็ตัดสินใจพำนักในเอเชียต่ออีก 8 ปี เพื่อคอยดูเหตุการณ์นี้อีกในปี 1769 แทนที่จะกลับฝรั่งเศสแล้วมาใหม่ โดยตั้งใจจะไปเฝ้าดูที่ Manila ในฟิลิปปินส์ แต่ทางสถาบัน French Academy of Sciences ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์การเดินทาง ได้ออกคำสั่งให้ Le Gentil ไปสังเกตที่อินเดียแทน Le Gentil จึงเดินทางไปอินเดียอีก แต่พบว่าในวันสำคัญนั้นบริเวณที่สังเกตมีเมฆหนาทึบ (ส่วนที่ Manila ฟ้าโปร่ง) Le Gentil ผู้อาภัพจึงต้องกลับบ้านมือเปล่า โดยไม่ได้ผลอะไรเลย หนำซ้ำยังพบอีกว่าในช่วง 11 ปีที่จากบ้านไป บรรดาญาติได้คิดว่า เขาคงเสียชีวิตไปแล้ว จึงจัดการแบ่งมรดกกันถ้วนทั่ว แม้แต่ตำแหน่งสมาชิกของสมาคม French Academy of Sciences ของเขาก็ถูกมอบให้สมาชิกคนใหม่ นี่คือตัวอย่างของผลกระทบในทางลบ ที่เหตุการณ์ดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ได้มีอิทธิพล

 กลับหน้าวิทยาศาสตร์