นกยุงไทย

Green Peafowl 

ชื่อวิทยาศาสตร์

Pavo muticus  

ลักษณะ   เป็นนกขนาดใหญ่มาก ความยาววัดจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 102 - 245 เซนติเมตร ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีหงอนเป็นพู่สีเหลืองชี้ตรงอยู่บนหัว ต่างจากนกยูงอินเดียซึ่งเป็นรูปพัด บนหัวและคอเป็นขนสั้น ๆ สีเขียวเหลือบน้ำเงิน หน้ามีสีฟ้า ดำ และเหลือง ขนคอ หน้าอกและหลังตรงกลาง ขนมีเหลือบน้ำเงินแก่ล้อมด้วยสีเขียวและสีทองแดง นกยูงตัวผู้มีแพนขนปิดหางยาวหลายเส้น ตรงปลายมีดอกดวง "แววมยุรา" ตรงกลางดวงมีสีน้ำเงินแกมดำอยู่ภายในพื้นวงกลมเหลือบเขียว ล้อมรอบด้วยรูปไข่สีทองแดง เมื่อนกยูงรำแพนจึงเป็นรูปพัดขนาดใหญ่มีสีสันสวยงามมาก นกยูงตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย และมีเดือยสั้นกว่า ขนของตัวเมียมักมีสีน้ำตาลแดงแทรกอยู่เป็นคลื่น    
ถิ่นอาศัย - อาหาร   นกยูงมีการกระจายพันธุ์ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะชวา ในประเทศไทยพบในภาคเหนือและภาคตะวันตก นกยูงกินทั้งพืชและสัตว์ ได้แก่ เมล็ดหญ้า เมล็ดของไม้ต้น ธัญพืช ผลไม้สุก แมลง ตัวหนอน ไส้เดือน งู และสัตว์ขนาดเล็ก 
พฤติกรรม - การขยายพันธุ์    นกยูงอาศัยตามป่าทั่วไปในระดับความสูง ไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่เป็นฝูงเล็กๆ หลังช่วงฤดูผสมพันธุ์มักพบตัวเมียอยู่กับลูกตามลำพัง มักออกหากินในช่วงเช้าและบ่าย ตามชายป่าและริมลำธาร ตอนกลางคืนมักจับคอนนอนตามกิ่งไม้ค่อนข้างสูง การเกี้ยวพาราสีกันของนกยูงเริ่มเมื่อนกยูงตัวเมียหากินเข้าไปดินแดนของนก ตัวผู้ ตัวผู้จะร่วมเข้าไปหากินในฝูงด้วย และแสดงการรำแพนหาง กางปีกสองข้างออกพยุงลำตัว ชูคอขึ้นแล้วย่างก้าวเดินหมุนตัวไปรอบ ๆ ตัวเมีย การรำแพนหางจะใช้เวลาประมาณ 5 - 10 นาที หากตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะย่อตัวลงให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์ นกยูงทำรังบนพื้นดินตามที่โล่งหรือตามซุ้มกอพืช อาจมีหญ้าหรือใบไม้แห้งมารองรัง วางไข่ครั้งละ 3 - 6 ฟอง เริ่มฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว โดยใช้เวลาฟักทั้งสิ้น 26 - 28 วัน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยคลุมทั่วตัว สามารถยืนและเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันทีที่ขนแห้ง โดยลูกนกจะตามแม่ไปหากินไม่น้อยกว่า 6 เดือน จากนั้นจึงหากินตามลำพัง 
 สภาพปัจจุบัน    นกยูงในป่าธรรมชาติค่อนข้างหายาก และปริมาณน้อย นอกจากบางแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ยังพบได้บ่อย และปริมาณปานกลาง กฎหมายจัดให้นกยูงไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

กลับไปเลือกชนิดนก