ปลากราย (อังกฤษ: Clown featherback, Clown knifefish) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitala ornata อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้นตั้งแต่ 3 - 20 ดวง ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว มีขนาดโดยเฉลี่ย 60 เซนติเมตร ใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร หนัดถึง 15 กิโลกรัม
มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำทั่วประเทศไทย แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก ปลากรายนับเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเชิงครีบก้น เรียกว่าเชิงปลากราย ก็เป็นส่วนที่นิยมรับประทานโดยนำมาทอด แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อย นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น เลี้ยงในท้องร่องสวน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ที่เลี้ยง ง่าย อดทน และจะมีราคาแพงยิ่งขึ้นในตัวที่จุดเยอะ หรือตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก หรือสีทอง ขาว หรือในตัวที่เป็นปลาพิการ ลำตัวสั้นกว่าปกติ มีชื่อเรียกอื่น เช่น "หางแพน" ในภาษากลาง "ตอง" ในภาษาอีสาน "ตองดาว" ในภาษาเหนือ เป็นต้น